• โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่
เกี่ยวกับสถานศึกษา

กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลั

 ข้อมูลทั่วไป

            กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย มีจำนวน 10 โรงเรียน ประกอบด้วย

1) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่ 

2) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กาฬสินธุ์ 

3) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา

4) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) 

5) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ชัยภูมิ

6) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์ 

7) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุพรรณบุรี 

8) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุราษฎร์ธานี

9) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย อุทัยธานี

10) โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองสิริราชสมบัติ

     ครบ 50 ปี จังหวัดสกลนคร


สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

เปิดสอน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

ประเภท สหศึกษา ทั้งประจำ และ ไป-กลับ


    โครงการพิเศษ

- โครงการห้องเรียนกีฬา สพฐ.

- โครงการห้องเรียนดนตรี สพฐ.

- โครงการห้องเรียนพิเศษส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สพฐ. SMTE


- โครงการยกระดับความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ห้องเรียนพิเศษส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม STI


ประวัติกลุ่มโรงเรียนโดยสังเขป 

โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อผสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการด้านการศึกษา ดังจะเห็นได้จาก   พระราชการณียกิจน้อยใหญ่ที่ทรงกอปรกรณียกิจทั้งหลายทั้งปวงเพื่อชนชาวไทยทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา สะท้อนพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นส่งเสริมและทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาในการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ อันจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง พัฒนาสถาพรของประเทศชาติสืบไปภายหน้าจึงเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการจะได้สนองพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมถวายราชสักการะ เฉลิมพระเกียรติ และเป็นอนุสรณ์สถานทางการศึกษาให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงคุณูปการของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์  2538 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาจำนวน 9 โรงเรียน  โดยรับนักเรียนสหศึกษา ประเภทประจำ และไป-กลับ

 กระทรวงศึกษาธิการได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานชื่อโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา จำนวน 9 โรงเรียน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อว่า  “กาญจนาภิเษกวิทยาลัย” และให้ต่อท้ายชื่อของโรงเรียนด้วยชื่อของจังหวัดที่โรงเรียนตั้งอยู่ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาต เชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภปร. และพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นเครื่องหมายของกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย จำนวน 9 โรงเรียน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2539 ประกอบด้วย โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่  โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กาฬสินธุ์  โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม   (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ชัยภูมิ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์  โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุพรรณบุรี โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุราษฎร์ธานี และโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย อุทัยธานี   

วันที่ 19 มิถุนายน 2539 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พระนามเดิม  เจริญ คชวัตร ฉายา สุวฑฺฒโน สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19 แห่ง  กรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ได้ประทานคำขวัญแก่โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ว่า “อกตํ ทุกฺกฏํ เสยฺโยวามชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า”

ในปีพ.ศ.2557 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีคำสั่งที่ 1569/2557 ลงวันที่ 27  ตุลาคม 2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่มโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติและกลุ่มโรงเรียนในโครงการ ตามพระราชดำริ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยกำหนดให้โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยอยู่ในกลุ่มที่ 1 กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย และให้เพิ่มโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี สกลนคร อยู่ในกล่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยด้วย รวม 10 โรงเรีย


โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่

       ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2539 โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่ ได้เปิดทำการเรียนการสอนในปีแรกโดยรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 90 คน จากโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตการศึกษา 4 (จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดระนอง) ประเภทประจำ

          โรงเรียนได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2540 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีพระราชทานแผ่นศิลาฤกษ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ (นายสถิต แสงศรี) เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่ และปลูกต้นโพธิ์กาญจนาภิเษก

          โรงเรียนได้รับงบประมาณโครงการที่ 1 ก่อสร้างอาคารเรียน และอาคารประกอบ รวม 7 รายการ วงเงินก่อสร้างทั้งสิ้น 105,250,000 บาท เริ่มก่อสร้างปี 39-42 โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ชัยเจริญวิศวการ

          โรงเรียนได้รับงบประมาณโครงการที่ 2 ก่อสร้างอาคารศูนย์กีฬา และอาคารประกอบ รวม 11 รายการ วงเงินก่อสร้างทั้งสิ้น 34,296,200 บาท เริ่มก่อสร้าง ปี 40-42 โดยบริษัทเอ็กซ์ พี จำกัด

       เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2547 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สบามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารเรียน โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่ และได้ทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ 1 ต้น ประจำโรงเรียน

          ในวันที่ 10 เมษายน 2539 นายนิติมิตร รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ใหญ่โรงเรียนลันตาราชประชาอุทิศ ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่

          ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 นายนิติมิตร รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่

          ในวันที่ 30 ธันวาคม 2541 นายนิติมิตร รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่

          ในวันที่ 1 ตุลาคม 2543 – 30 กันยายน 2557 นายนิติมิตร รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่

           ในวันที่ 10 ธันวาคม 2558 – 30 กันยายน 2561 นายประพันธ์  งานดี ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่

         ในวันที่ 29 ตุลาคมคม 2561 นางวรรณดี เกตแก้ว ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่ จนถึงปัจจุบัน

ตรากลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย


                      เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษก-วิทยาลัย เชิญตราพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นเครื่องหมายของกลุ่มโรงเรียน

                    เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศ เรื่องกำหนดภาพเครื่องหมายราชการ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศกัราช 2482 (ฉบับที่ 159) ออกกำหนดภาพเครื่องหมายราชการของโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย จำนวน 8 โรงเรียน ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ คือ จังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี สุพรรณบุรี อุทัยธานี เพชรบูรณ์กาฬสินธุ์ ชัยภูมิและฉะเชิงเทรา  ไว้เป็นเครื่องหมายราชการ ตามรายการประกอบแบบ ดังนี้ 

 -พระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ใต้พระมหามงกุฎ รัศมีเหนือพระมหามงกุฎ และ พระมหามงกุฎเป็นสีเหลืองทอง 

- แถบโบว์ชื่อโรงเรียน สีน้ำเงินตัดขอบ สีเหลืองทองอักษร ชื่อโรงเรียนเป็นอักษรสีเหลือทองต่อท้ายด้วยชื่อจังหวัด 


ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนที่ 21 ง หน้า 7 16 มีนาคม 2542

สีประจำกลุ่มโรงเรียน

เหลืองทอง-น้ำเงิน

          สีเหลืองทอง หมายถึง สีประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งทรงพระราชทานนามโรงเรียน  

          สีน้ำเงิน หมายถึง สีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์ 

คำขวัญโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ

รักษ์ศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ

 

คำขวัญกลุ่มโรงเรียน

วันที่ 19 มิถุนายน 2539 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พระนามเดิม  เจริญ คชวัตร ฉายา สุวฑฺฒโน สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19   แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ได้ประทานคำขวัญแก่โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย   ว่า

อกตํ ทุกฺกฏํ เสยฺโย  ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า”

 

วิสัยทัศน์(Vision)

กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ได้กำหนดทิศทางในการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงเรียน โดยกำหนดวิสัยทัศน์ของกลุ่มดังนี้

“เป็นองค์กรที่มุ่งพัฒนาบุคลากรในองค์กรสู่ความเป็นมืออาชีพ เป็นสุภาพบุรุษ และ สุภาพสตรีกาญจนา ผู้เรียนรักษ์ศักดิ์ศรีมีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริเป็นสุภาพบุรุษ  สุภาพสตรี     มีมาตรฐานสากล” 


พันธกิจ(Mission)

1. พัฒนาบุคลากรของโรงเรียนกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล 

2. พัฒนาหลักสูตรส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย 

3. พัฒนาห้องเรียนคุณภาพ ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ “ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน” ให้สอดคล้องกับการศึกษายุคศตวรรษที่ 21 

4.พัฒนาให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่เอกลักษณ์  และ อัตลักษณ์ เบญจวิถีของกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย 

5. พัฒนาเครือข่ายกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยให้มีคุณภาพและยั่งยืน

เป้าประสงค์(Goal)

1. โรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยมีการบริหารจัดการการศึกษา และบริหารการศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติอย่างมีคุณภาพ 

2. มีหลักสูตรส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย อย่างมีคุณภาพ 

3. ผู้เรียนเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์  ภาษา และเทคโนโลยี ตามมาตรฐานสากล 

4. ผู้เรียนพัฒนาด้านบุคลิกภาพ สุนทรียภาพ เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ อย่างเต็มศักยภาพตามแนวทางเบญจวิถี 

5. เครือข่ายกลุ่มกาญจนาภิเษกวิทยาลัยร่วมพัฒนาด้านการศึกษาของกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน 


เอกลักษณ์

นักเรียนมีความเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี

อัตลักษณ์

เทิดทูนสถาบัน กตัญญู บุคลิกดี มีวินัย ให้เกียรติ


จุดเน้น 7 ประการของกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย

1. มุ่งเน้นการฝึกระเบียบวินัย ความเป็นผู้นำ การพึ่งตนเอง การช่วยเหลือสังคมและการมีมนุษยสัมพันธ์  

2. มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรู้ทางวิชาการและทักษะทางวิชาชีพ เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อ และการประกอบอาชีพ 

3. มุ่งเน้นการเพาะบ่มนิสัยให้นักเรียนเป็นผู้มีความสุภาพอ่อนโยนมีความเมตตากรุณาไม่เอาเปรียบผู้อื่น แต่งกายสะอาดเรียบร้อยมีกิริยาท่าทางสง่างาม 

4. มุ่งเน้นการปลูกฝังความเป็นไทยและความเป็นสากล  

5. มุ่งเน้นให้นักเรียนเล่นดนตรีได้คนละ 1 ชิ้น และเล่นกีฬาได้คนละ 1 อย่าง 

6. มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 

7. มุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามแนวทางพระราชดำริ ศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9